02 กันยายน 2551

บ้านเมืองตกอยู่ในสภาพนี้ เราคนไทยจะทำอย่างไร?


ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ปะทะกัน ระหว่างกลุ่มประชาชนสองฝ่ายในกรุงเทพฯ ว่า เมื่อเวลาเที่ยงคืนเข้าสู่วันอังคารที่ 2 ก.ย. กลุ่มผู้ชุมนุม นปก.หรือ นปช. กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยเพื่อต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ เคลื่อนขบวนจากสนามหลวง นำโดยรถบรรทุก 6 ล้อที่ใช้เป็นเวทีชั่วคราว ผ่านสถานีตำรวจนางเลิ้ง โดยประกาศว่า จะขอยึดทำเนียบรัฐบาลคืนให้ทางการ
ระหว่างนั้น ที่เวทีกลุ่มพันธมิตรในทำเนียบ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ขึ้นเวทีแจ้งว่า กลุ่มนปก.เคลื่อนเข้ามาใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ให้ผู้ชุมนุมดูแลตนเองและอยู่ในทำเนียบ ซึ่งเมื่อประกาศเสร็จ มีกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนต้องการกลับ แต่การ์ดพันธมิตรแจ้งว่า ฝ่ายนปก.กระจายกำลังอยู่ด้านนอก อาจไม่ปลอดภัย ผู้ชุมนุมพันธมิตรบางส่วนจึงหยิบไม้และใส่หมวกกันน็อกป้องกันตัว
ต่อมาตำรวจราว 2 กองร้อยนำกำลังมาตั้งแถวกั้นการเคลื่อนขบวนของฝ่ายนปก. บริเวณแยกจปร. ส่วนด้านหลังฝ่ายพันธมิตรนำแนวเหล็กมากั้นขวางตลอดแนวถนนราชดำเนิน กระทั่งถึงช่วงตี 1 ฝ่าย นปก.เคลื่อนกำลังเข้ามาใกล้อีกและทลายแนวกั้นของตำรวจได้ ก่อนวิ่งฝ่าเข้าไป ขณะที่ฝ่ายพันธมิตรวิ่งออกมากั้น และปะทะกัน ทั้งใช้ไม้ฟาด ปาก้อนหินและยิงหนังสะติ๊ก โดยมีเสียงคล้ายอาวุธปืนดังขึ้น 5 ครั้ง ระหว่างนั้นผู้เห็นเหตุการณ์เห็นคนบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย และมีรถพยาบาลเข้ามายังพื้นที่ราว 7 คัน

จากนั้นฝ่ายพันธมิตรถอยร่นมาที่แยกสะพานมัฆวาน ขณะที่บนเวทีพันธมิตรประกาศให้ผู้ชุมนุมอย่าใช้ความรุนแรง เพราะอาจเข้าทางรัฐบาล ประกาศใช้พ.ร.ก.ภาวะฉุกเฉินเพื่อควบคุมสถานการณ์
ในเวลา 01.40 น. ตำรวจเพิ่มกำลังเข้ามาอีก 3 กองร้อยและตั้งแถวกั้นผู้ชุมนุม 2 ฝั่ง โดยฝั่งที่ประชิดกลุ่มนปก.จัดเป็น 3 แถว และฝั่งประชิดพันธมิตรตั้งเป็น 4 แถว สถานการณ์คลี่คลายลงเล็กน้อย ฝ่ายนปก.ปักหลักอยู่หน้าสนามมวยราชดำเนิน ส่วนพันธมิตรอยู่ในทำเนียบรัฐบาล
ต่อมาเวลา 02.45 น. ทหาร 4 กองร้อยยกกำลังออกมาเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ โดยตั้งแถวประจำการอยู่ตรงกลางระหว่างตำรวจที่กั้นผู้ชุมนุมสองฝั่ง
เวลา 03.00 น. มีรายงานผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บกว่า 40 ราย จากการปะทะกันดังกล่าว
ต่อมาในเวลา 07.00 น. นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีประกาศภาวะฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานคร โดยระบุว่า เนื่องจากมีกลุ่มบุคคลดำเนินการให้เกิดความวุ่นวาย กระทบความเรียบร้อยต่อประชาชนและความมั่นคงของรัฐ กระทบต่อพัฒนาการประชาธิปไตย จึงต้องแก้ไขปัญหาให้สิ้นสุดโดยเร็ว พร้อมมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้ผบ.ทบ.เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบตามพ.ร.ก. จนกว่าสถานการณ์จะสงบ นอกจากห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คนเป็นต้นไปหรือกระทำอันยุยงขัดต่อความสงบ ห้ามเผยแพร่ข้อความให้ประชาชาเกิดความหวากกลัวจนกระทบความมั่นคงของรัฐ และความสงบทั่วราชอาญาจักร ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม ยานพาหนะ ตามที่กำหนดห้ามใช้อาคาร และ ให้อพยพประชาชนออกจากอาคารหรือให้ไปอยู่อาคารตามที่กำหนด
ใช้อำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อันเป็นกฎหมายที่เป็นมีบทบัญญัติบางประการ เกี่ยวกับการจัดการสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งตามมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 32 , 33 , 34 , 36 , 38 , 41 , 43 , 45 , และมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย นายกรัฐมนตรีจึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ บัดนี้ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 2 กันยายน 2551
ลงชื่อนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี

ที่มาจากหนังสือพิมพ์ ข่าวสด